อัมพาต ( Paralysis) คือ อาการที่กล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่าง ๆ
ในร่างกายไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้
เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยที่ทำให้ระบบสั่งการของสมองสำหรับควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเกิดความผิดพลาด
ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือการประสบอุบัติเหตุ
การเจ็บป่วยที่กระทบกระเทือนกับสมอง ไขสันหลัง กระดูกคอ และเส้นประสาทต่าง ๆ
ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย
ทำให้เส้นทางการส่งกระแสประสาทระหว่างสมองและกล้ามเนื้อขาดช่วง
ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตเป็นบางจุด เช่น บริเวณใบหน้า แขน ขา อาจเป็นอัมพาตครึ่งซีก
หรืออาจเป็นอัมพาตทั้งร่างกาย
ผู้ป่วยอัมพาตมีโอกาสหายและอาการดีขึ้นได้หากได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกต้องเหมาะสม
ชนิดและอาการของอัมพาต
1. อัมพาตเฉพาะที่
มีอวัยวะบางส่วนที่เป็นอัมพาตและขยับเขยื้อนไม่ได้ เช่น ใบหน้า หรือมือ
2. อัมพาตทั่วร่างกาย
เป็นอัมพาตในบริเวณกว้าง ส่งผลให้อวัยวะบางส่วนหรือหลายส่วนขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
ได้แก่
- โมโนพลีเจีย
( Monoplegia) – แขน
หรือขาข้างใดข้างหนึ่งขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
- เฮมิพลีเจีย
( Hemiplegia) – แขน
และขาข้างใดข้างหนึ่งขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือที่เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก
- พาราพลีเจีย
( Paraplegia) – ขาทั้งสองข้าง
หรือตั้งแต่บริเวณอุ้งเชิงกรานและช่วงล่างของลำตัวลงไปขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
- เตตร้าพลีเจีย
หรือ ควอดริพลีเจีย ( Tetraplegia
หรือ Quadriplegia) – แขนและขาทั้งสองข้างขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
ทั้งนี้ อัมพาตยังแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะกล้ามเนื้อในบริเวณที่เป็นอัมพาตด้วย
ได้แก่
1. อัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก
( Flaccid Paralysis)
กล้ามเนื้อจะหดตัวและอ่อนแรง
2. อัมพาตแบบกล้ามเนื้อเกร็ง
( Spastic Paralysis)
กล้ามเนื้อจะตึงและแข็ง
ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุกหรือเกิดตะคริวได้
หากผู้ป่วยเป็นอัมพาตแค่บางส่วน
อาจควบคุมกล้ามเนื้อในบริเวณที่เป็นอัมพาตให้ขยับเคลื่อนไหวได้บ้างแต่หากเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย
จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นให้ขยับหรือเคลื่อนไหวได้เลย
อัมพาตอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
อย่างผู้ป่วยโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ( Bell's
Palsy) ซึ่งมีใบหน้าบิดเบี้ยวจากกล้ามเนื้อบนใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกเพราะเกิดภาวะอักเสบที่ประสาทสมองเส้นที่
7 หากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
ผู้ป่วยจะฟื้นตัวกลับมาและหายจากอาการอัมพาตบางส่วน หรือหายดีเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจยากที่จะหายดีเป็นปกติ
หรืออาจเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การรักษา
และการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการอัมพาตด้วย
สาเหตุของอัมพาต
โรคหลอดเลือดสมอง ( Cerebrovascular Accident หรือ Stroke)
ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก
มีลักษณะการเกิด ดังนี้
1. Ischemic
Stroke : เส้นเลือดในระบบไหลเวียนโลหิตถูกลิ่มเลือดอุดตัน
หรือเกิดจากหลอดเลือดตีบแคบลงจากไขมันเกาฝังตัวที่ผนังหลอดเลือด
ทำให้เลือดและออกซิเจนเดินทางไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองไม่ได้
2. Hemorrhagic
Stroke : เส้นเลือดในสมองแตก ฉีกขาด
หรือได้รับความเสียหาย ทำให้เลือดและออกซิเจนเดินทางไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ
ในสมองไม่ได้
เมื่อเกิดอาการดังกล่าว
จะนำไปสู่ภาวะสมองขาดเลือด
กระทบต่อสมรรถภาพในการควบคุมสั่งการกล้ามเนื้ออวัยวะส่วนต่าง ๆ
ทำให้อวัยวะไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวเป็นปกติได้
การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
เมื่อศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
อาจทำให้เกิดความเสียหายภายในสมองได้ เนื้อเยื่อสมองอาจฉีกขาดหรือฟกช้ำจากการกระแทกระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะจนสร้างความเสียหายแก่เส้นเลือดและเส้นประสาทในสมองความเสียหายมักเกิดขึ้นกับสมองซีกซ้ายที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
จนส่งผลต่ออาการอัมพาตของร่างกายในซีกขวาและความเสียหายในสมองซีกขวาที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจะทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตบริเวณร่างกายซีกซ้าย
อย่างไรก็ตาม
อาการอัมพาตของร่างกายในแต่ละซีกนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ได้รับบาดเจ็บ
การได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
ไขสันหลังเป็นเส้นประสาทที่อยู่ภายในกระดูกสันหลังที่เชื่อมไปถึงกระดูกคอมีหน้าที่ควบคุมระบบประสาทส่วนกลางซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมสัญญาณระหว่างสมองกับร่างกายในการรับรู้ความรู้สึกต่างๆทำให้สมองสามารถสั่งการควบคุมการแสดงออก
ปฏิกิริยา และการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนั้น
เมื่อไขสันหลังเกิดความเสียหาย เช่น กระดูกบริเวณคอ หรือกระดูกสันหลังบาดเจ็บจากแรงกระแทกอาจทำให้ไขสันหลังได้รับความเสียหายจนไม่สามารถส่งสัญญาณจากสมองไปยังกล้ามเนื้อเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวได้อีกต่อไป
การบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังมักมีสาเหตุจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆมากกว่าการได้รับการกระทบกระเทือนจนสร้างความเสียหาย
อุบัติเหตุรุนแรงที่อาจทำให้ไขสันหลังบาดเจ็บ ได้แก่ อุบัติเหตุทางรถยนต์
อุบัติเหตุจากการทำงาน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
การหล่นจากที่สูง เป็นต้น ทั้งนี้
ลักษณะอาการอัมพาตนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บด้วย เช่น การบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนกลางอาจทำให้เป็นอัมพาตชนิดพาราพลีเจีย
(ร่างกายส่วนล่างลำตัวลงมาเป็นอัมพาต) หรือการบาดเจ็บบริเวณกระดูกคออาจทำให้เป็นอัมพาตชนิดเตตร้าพลีเจีย
หรือควอดริพลีเจีย (เป็นอัมพาตทั้งแขนและขาทั้งสองข้าง)
หลอดเลือดอุดตัน
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
บวกกับการที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
หรือในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม ที่บริเวณผนังหลอดเลือดจะมีไขมันมาเกาะ
ซึ่งไขมันเหล่านั้นจะพอกสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป
และยังมีพวกเม็ดเลือด รวมถึงสารอื่นๆมาร่วมกันพอกหนาขึ้นๆเป็นลิ่มเลือด
จนสุดท้ายอยู่มาวันหนึ่ง ลิ่มเลือดนั้นเกิดหลุดแล้วก็ล่องลอยไปตามกระแสเลือด
ถ้าลอยอยู่เฉยๆคงจะไม่มีปัญหาอะไรตามมา แต่มันดันไปอุดในหลอดเลือดที่เล็กกว่าเข้า
จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยความจริงลิ่มเลือดนี่สามารถไปอุดได้หลายที่ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็จะแตกต่างกันไป
เช่น ในหัวใจก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
แต่ในกรณีของโรคอัมพาตและโรคอัมพฤกษ์นั้นจะเกิดจากการที่ลิ่มเลือดที่ว่านี้ไปอุดตันที่สมองนั่นเอง
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือเอ็มเอส ( Multiple Sclerosis)
ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดการติดเชื้อทำงานผิดปกติ
ส่งผลให้สารมัยอีลิน ( Myelin)
ที่หุ้มอยู่รอบใยประสาทบริเวณไขสันหลังถูกทำลายเมื่อปลอกประสาทนี้ถูกทำลาย
ส่งผลรบกวนต่อการนำสัญญาณสื่อประสาทระหว่างสมองกับร่างกาย
ทำให้เกิดอาการอัมพาตได้ในที่สุด นอกจากนี้ สาเหตุของอาการอัมพาต ได้แก่
1. โรคทางระบบประสาท เช่น
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส ( Amyotrophic
Lateral Sclerosis) หรือโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม
( Motor Neuron
Disease) ซึ่งเซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเสื่อมหรือตายก่อนถึงอายุขัย
อาจทำให้เกิดอัมพาตทั้งตัวได้
2. โรคที่ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น
กลุ่มอาการจีบีเอส หรือ กิลแลง-บาร์เร ( Guillain-Barre
Syndrome) ที่ระบบประสาทส่วนปลายเกิดการอักเสบติดเชื้อฉับพลัน
3. โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
หรือโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ( Bell's
Palsy) เส้นประสาทบริเวณใบหน้าซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าเกิดการอักเสบ
4. โรคสมองพิการ ( Cerebral Palsy) มีความผิดปกติทางสมองทำให้ร่างกายขยับหรือเคลื่อนไหวลำบากหรือผิดปกติ
5. กลุ่มอาการหลังจากโรคโปลิโอ
( Post-Polio
Syndrome)
6. เนื้องอกที่เส้นประสาท ( Neurofibromatosis)
7. มะเร็งสมอง มะเร็งไขสันหลัง
มักทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีก
8. โรคไลม์ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ แบคทีเรียจะไปทำลายเส้นประสาท
ทำให้เกิดอาการอัมพาตชั่วคราวบริเวณใบหน้า
9. พิการแต่กำเนิด เช่น สไปนา ไบฟิดา
เป็นอาการพิการแต่กำเนิดบริเวณกระดูกสันหลังและระบบประสาท
ทำให้ร่างกายอัมพาตบางส่วน หรืออัมพาตอย่างถาวร
การวินิจฉัยอัมพาต
หากแพทย์ตรวจร่างกาย และทดสอบสมรรถภาพร่างกายแล้วพบว่าผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว
แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นอัมพาต แต่หากแพทย์มีข้อสงสัย
ต้องการวินิจฉัยหาสาเหตุ หรือตรวจหาบริเวณที่เป็นอัมพาตให้แน่ชัดขึ้น
แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการ ดังนี้
1. การเอกซเรย์
( X-Ray) เป็นการฉายรังสีเอกซเรย์ผ่านร่างกาย
เพื่อสร้างเป็นภาพอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ
มีประโยชน์ในการวินิจฉัยความเสียหายบริเวณกระดูกสันหลังหรือกระดูกคอ
2. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT Scan) เป็นวิธีการสร้างภาพถ่ายอวัยวะภายในจากการฉายรังสีเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
จะให้รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นจากการเอกซเรย์ธรรมดา
มักใช้ตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณศีษะและไขสันหลังจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรง
3. การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI) เป็นวิธีการสร้างภาพอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การใช้ MRI ช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง
ๆ ประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น
โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณสมองและไขสันหลังเพื่อให้ภาพเอกซเรย์ที่ได้จากการ
X-Ray, CT Scan หรือ MRI มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อาจใช้ การฉีดสีเพื่อตรวจไขสันหลัง ( Myelography)
เพิ่มเติม
ซึ่งเป็นการตรวจไขสันหลังด้วยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นประสาทไขสันหลัง
4. การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ( Electromyography) ใช้เครื่องมือที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าที่อยู่ในกล้ามเนื้อและเส้นประสาทตามจุดต่าง
ๆ ของร่างกาย
แพทย์มักนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ( Bell's Palsy)
การรักษาอัมพาต
หากมีอาการอัมพาต
แพทย์จะวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ หรืออาการป่วยต่าง ๆ
ที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต แต่หากผู้ป่วยเป็นอัมพาตแบบถาวรนั้นจะไม่สามารถรักษาได้
เน้นการดูแลให้ผู้ป่วยปรับตัวใช้ชีวิตต่อไปได้ การรักษาประกอบด้วยวิธีการดังนี้
1. การผ่าตัด หรือการตัดอวัยวะ
แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป
ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงของการป่วยที่เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพาต
2. การทำกายภาพบำบัด เป็นการฝึกการเคลื่อนไหวส่วนต่าง
ๆ
ของร่างกายด้วยวิธีการและแบบแผนที่ถูกต้องเหมาะสมภายใต้การดูแลหรือคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด
เพื่อช่วยฟื้นฟูประสาทกล้ามเนื้อให้กลับมาทำงานได้
และช่วยป้องกันการเจ็บป่วยต่อไปในอนาคตซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายขาดการเคลื่อนไหว
ผู้ป่วยอาจทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล หรือด้วยตนเองหลังกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน
ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด
3. การทำกิจกรรมบำบัด
เป็นการฝึกให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยการฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ
ในชีวิตประจำวัน อย่างการแต่งกาย การไปซื้อของ โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น
ฝึกทำกิจกรรมตามขั้นตอน สอนวิธีลัดอื่น ๆ ที่ช่วยให้ทำกิจกรรมดังกล่าวได้สำเร็จ
ปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้ทำกิจกรรมได้ง่ายขึ้น
หรือจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กิจกรรมต่าง ๆ
อ้างอิง
https://th.search.yahoo.com/yhs/search?hspart=iba&hsimp=yhs-1&type=xmds_5497_CRW_TH&p=%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%95+(Paralysis)
การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว ได้แก่
1.
การใช้รถเข็น หรือที่เรียกว่า
วีลแชร์
1.1
วีลแชร์ธรรมดา :
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อร่างกายท่อนบนแข็งแรง
และเป็นอัมพาตตั้งแต่ส่วนล่างของลำตัวลงไป
1.2
วีลแชร์ไฟฟ้า:
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อร่างกายท่อนบนอ่อนแอ หรือเป็นอัมพาตชนิดเตตร้าพลีเจีย
หรือควอดริพลีเจีย ซึ่งแขนและขาทั้งสองข้างขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
2. การใช้กายอุปกรณ์เสริม เป็นการสวมใส่อุปกรณ์ที่ทำจากพลาสติกหรือโลหะ
เพื่อช่วยชดเชยความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นอัมพาต
และช่วยในการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น
2.1
กายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือ-ข้อมือ :
จะทำให้ข้อมือช่วยบังคับการเคลื่อนไหวของนิ้วที่เป็นอัมพาต
2.2
กายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า-ข้อเท้า :
อุปกรณ์จะช่วยในการเดิน ด้วยการบังคับการเคลื่อนไหวของเท้า เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตส่วนล่างลำตัวลงไปเพียงบางส่วน
เช่น ขาข้างเดียว
2.3
กายอุปกรณ์เสริมสำหรับประคองระดับข้อเข่า :
อุปกรณ์จะช่วยประคองความมั่นคงของข้อเข่าและข้อเท้า
แต่ท่อนขายังเคลื่อนไหวแกว่งตัวได้
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตชนิดเตตร้าพลีเจีย หรือควอดริพลีเจีย
ที่แขนและขาทั้งสองข้างไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้
3. การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นอัมพาตจากการถูกกระทบกระเทือนบริเวณไขสันหลัง
ส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะด้วย
เนื่องจากเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะจะอยู่บริเวณปลายของไขสันหลัง
ผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ
จึงต้องใช้วิธีช่วยระบายของเสียออกจากร่างกาย ดังนี้
3.1
ฝึกควบคุมการขับถ่าย ช่วยขับของเสียออกจากลำไส้ด้วยการฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาฃ
3.2
การสวนอุจจาระ เป็นการใช้ยาสวนเข้าไปทางทวารหนัก
เพื่อช่วยขับถ่ายอุจจาระ
3.3
การต่อสายท่อปัสสาวะ อาจทำได้ทั้งการต่อท่อเล็ก
ๆ
จากปลายท่อปัสสาวะบริเวณปลายอวัยวะเพศของผู้ป่วยเพื่อระบายปัสสาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้
หรือแพทย์อาจผ่าตัดเจาะต่ออุปกรณ์สายท่อจากกระเพาะปัสสาวะออกมาทางรูที่สร้างขึ้นบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย
3.4
การใส่ถุงอุจจาระ (Colostomy) แพทย์จะผ่าตัดบริเวณลำไส้แล้วต่อกับถุงอุจจาระโดยตรง
แล้วถุงจะอยู่ติดกับผนังหน้าท้องด้านนอกของผู้ป่วย
การใช้ยารักษาอาการปวดประสาท
( Neuropathic
Pain) ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดประสาทในระยะยาวเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลายไปก่อนหน้า ซึ่งอาการปวดประสาทที่เกิดขึ้นนี้
ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแก้ปวดทั่วไปอย่างพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน
แต่ต้องรักษาด้วยยาอะมิทริปไทลีน ( Amitriptyline) และพรีกาบาลิน
( Pregabalin) แต่ยาเหล่านี้ล้วนมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ดังนั้น ผู้ป่วยต้องใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมภายใต้คำสั่งแพทย์
เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในการรักษา
และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นและเป็นอันตรายได้
การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผู้ป่วยอัมพาตมักเผชิญกับปัญหากล้ามเนื้อชา
เป็นตะคริว และหดเกร็ง ซึ่งรักษาได้โดยการใช้ยาเหล่านี้
1. กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น
บาโคลเฟน ( Baclofen) ทิซานิดีน ( Tizanidine) และแดนโทรลีน ( Dantrolene) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคลายกังวลอย่างไดอะซีแปม
( Diazepam) นอกจากในรายที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
2. โบทูลินัม ท็อกซิน หรือโบท็อกซ์
จะถูกนำมาใช้หากรักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อแล้วไม่ได้ผล
โดยอาจฉีดเฉพาะบริเวณที่กล้ามเนื้อชา ยาจะช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนที่เกิดการชา
และหดเกร็งตัว
เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและการฝึกยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ
3.
การให้ยาทางไขสันหลัง (Intrathecal
Baclofen Therapy)
แพทย์จะผ่าตัดบริเวณด้านหลังของผู้ป่วย
โดยเจาะที่หลังตำแหน่งโพรงไขสันหลัง
ใส่ท่อที่มียาบาโคลเฟนคลายกล้ามเนื้อจากเครื่องปั๊มยา
เพื่อลดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
แก้ปัญหาอาการไอที่ลดลง ผู้ป่วยอัมพาตอาจไอลำบาก
ซึ่งการไอเป็นกระบวนการที่ช่วยกำจัดมูกเหนียวหรือเสมหะที่ติดค้างอยู่ภายในระบบทางเดินหายใจ
ทำให้หายใจได้สะดวก หากมีกล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาต
จะทำให้การไอเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนเสี่ยงต่อการสะสมของมูกเหนียวในปอด
นำไปสู่การติดเชื้อในปอดได้ ดังนั้น
เพื่อชดเชยความสามารถของกล้ามเนื้อที่ทำให้ไอได้ยากขึ้น
ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้ผู้ป่วยไอได้มากขึ้น เช่น
1.
ขยับตัวลุกนั่งทุกวัน
2.
พลิกตัวไปมาในขณะนอน
3.
ดื่มน้ำมาก ๆ
เพื่อช่วยให้เสมหะที่ข้นเหนียวเจือจางลง เอื้อต่อการไอได้ง่ายขึ้น
4.
ไม่สูบบุหรี่ หรือไม่อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่
5.
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
และวัคซีนปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมค็อกคัส
เพื่อป้องกันการป่วยที่จะทำให้เกิดมูกเสมหะสะสมในระบบทางเดินหายใจ
การใช้เครื่องช่วยหายใจ ในผู้ป่วยบางรายที่กล้ามเนื้อบริเวณกะบังลมเป็นอัมพาต
จะส่งผลให้หายใจเข้าออกลำบาก ผู้ป่วยจึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
เพื่อช่วยควบคุมอากาศและแรงดันภายในปอด ซึ่งมี 2 ชนิด คือ
1.
Negative Pressure Ventilator เครื่องจะสร้างภาวะสุญญากาศในปอด
ทำให้ช่วงอกขยายออก แล้วให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดเอง
2.
Positive Pressure Ventilator เครื่องจะส่งออกซิเจนเข้าไปยังปอดโดยตรง
เพื่อช่วยในการหายใจ โดยใช้ท่อช่วยหายใจ ซึ่งมี 2 แบบ คือ
ท่อที่ต้องผ่าตัดบริเวณคอ เพื่อต่อท่อเข้าไปในหลอดลม
และท่อที่สอดเข้าไปทางปากหรือจมูก เพื่อส่งออกซิเจนเข้าไป
แม้อาการอัมพาตในผู้ป่วยบางรายจะรักษาให้หายขาดได้ยาก
แต่ผู้ป่วยก็อยู่ร่วมกับอาการอัมพาตได้ ด้วยการใช้เครื่องมือหรือวิธีการต่าง ๆ
ดังกล่าวข้างต้น
เพื่อดูแลประคับประคองและอำนวยความสะดวกให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของอัมพาต
ภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Autonomic
Dysreflexia) มักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตแขนขาทั้งสองข้าง ( Tetraplegia
หรือ Quadraplegia) เมื่อมีสิ่งเร้าไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่ควบคุมส่วนต่างๆภายในร่างกายที่มีผลต่อการตอบสนองของร่างกาย อย่างระบบความดันโลหิต การย่อยอาหาร
และการหายใจ ดังนั้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้นเร้า สัญญาณเตือนต่างๆจะไม่สามารถส่งไปยังสมองของผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตได้
เนื่องจากเกิดการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง เมื่อสมองสั่งการไม่ได้ตามปกติ
สุดท้ายระบบประสาทอัตโนมัติจะแสดงอาการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างผิดปกติ เช่น
ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นช้าลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ
ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย เหงื่อไหลออกมาก แน่นหน้าอก
ขนลุก ความดันสูง หัวใจเต้นช้าลง (น้อยกว่า 60 ครั้ง/ นาที)
ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น
หากเกิดภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติแล้วผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา
อาจนำไปสู่การชักและมีเลือดออกในสมองจนถึงแก่ความตายได้
ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นตามมาหลังจากผู้ป่วยประสบเหตุให้เป็นอัมพาตกะทันหัน
ทำให้เกิดความโศกเศร้าและทำใจยอมรับได้ยาก แต่หากผู้ป่วยปรับตัวปรับมุมมองได้
ก็จะผ่านพ้นขั้นความเศร้าโศกจนยอมรับความจริงและอยู่ร่วมกับอาการป่วยต่อไปได้
ทั้งนี้
ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดควรดูแลและเฝ้าระวังสังเกตอาการของผู้ป่วย
หากพบว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า ควรหาวิธีให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเยียวยา
และประคับประคองช่วยเหลือทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ให้ผู้ป่วยเรียนรู้และปรับตัวได้ในที่สุด
ปัญหาเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์ การเป็นอัมพาตอาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้
แต่ไม่เสมอไป ผู้ป่วยบางรายอาจสามารถมีเพศสัมพันธ์และมีบุตรได้
ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ และการใช้วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก
ในบางรายผู้ป่วยเพศชายอาจเผชิญกับปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่สามารถหลั่งอสุจิได้
หรือมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในขณะที่ผู้ป่วยเพศหญิง
มักไม่ได้รับผลกระทบในด้านความสามารถในการเจริญพันธุ์
แม้จะมีผู้ป่วยจำนวนมากประสบกับปัญหาความต้องการทางเพศที่ลดลง
เพราะมีความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ผู้ป่วยหญิงบางรายก็ไม่มีสารหล่อลื่นบริเวณอวัยวะเพศหญิง
แต่แก้ไขได้ด้วยการใช้สารหล่อลื่นที่ถูกต้องและปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ ในเพศชาย
หากกระทบต่อการใช้ชีวตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว
การป้องกันการเกิดอัมพาต
อาการอัมพาตเกิดขึ้นหลังจากมีปัจจัยก่อนหน้า
ฉะนั้น จึงไม่มีแนวทางการป้องกันที่แน่นอน อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตไปแล้วควรศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อไปในอนาคต ได้แก่
การดูแลป้องกันการเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วยอัมพาตที่ขยับเขยื้อนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับอักเสบและติดเชื้อในบริเวณนั้น
เนื่องจากต้องนั่งหรือนอนในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
ทำให้เลือดนำออกซิเจนและสารอาหารไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนดังกล่าวได้ไม่สะดวก
จนเนื้อเยื่อในบริเวณนั้นได้รับความเสียหายหรือเนื้อเยื่อตาย ดังนั้น
ผู้ป่วยควรเปลี่ยนตำแหน่งท่านั่งหรือนอนอยู่เสมอ เช่น ขยับตัวเปลี่ยนท่านอนประมาณ 20 ครั้งต่อคืน ผู้ป่วยที่นั่งรถเข็นควรขยับตัวเปลี่ยนตำแหน่งอย่างน้อยทุก 15-30
นาที หากต้องนอนอยู่บนเตียงนาน ๆ ควรเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2
ชั่วโมง
หากผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ควรขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลและบุคคลใกล้ชิด
คนรอบข้างควรหมั่นสังเกตบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย หากผิวเกิดรอยแตก
หรือมีแผลเปิดซึ่งเป็นแผลกดทับ ควรรีบรักษาหรือไปพบแพทย์
การออกกำลังกาย การมีสุขภาพดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไม่ให้แขนขาอ่อนแรง
และยังช่วยฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ภายในร่างกาย
โดยผู้ที่เป็นอัมพาตควรออกกำลังกายตามสมรรถภาพของตน เช่น การยกน้ำหนัก การขี่จักรยานมือ
การเล่นกีฬาต่างๆ บนวีลแชร์
หากผู้ป่วยไม่ถนัดออกกำลังกายหรือไม่ทราบวิธีการควรขอความช่วยเหลือจากนักกายภาพบำบัด
ซึ่งจะแนะนำการออกกำลังกายและการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
ให้ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจใช้อุปกรณ์กายภาพบำบัด( Functional Electrical Stimulation-FES) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งกระแสไฟฟ้ากระตุ้นประสาทกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
ให้ขยับเคลื่อนไหวได้บ้าง
อ้างอิง
https://www.pobpad.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%95
การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพาต
VIDEO
การฟื้นฟูสภาพ
เป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสามารถที่จะเหลือช่วยตัวเอง และมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถให้การฟื้นฟูได้ดี เป็นผู้ป่วยที่สามารถที่จะรับรู้ เข้าใจ และติดต่อคำบอกเล่า เพราะการเรียนรู้เป็นขั้นตอนการฝึกที่สำคัญของการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่ผลการฟื้นฟูได้ผลดีจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ
ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และสังคมที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
มีการฟื้นตัวของความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้เร็ว ภายใน 1-2 สัปดาห์
มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำตัว สะโพก หัวไหล่ โดยเร็วโดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนต้นได้ภายใน 2-4 สัปดาห์
มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อแต่ละมัดโดยเร็วสามารถควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละมัดได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
มีอารมณ์ดี ไม่มีอาการซึมเศร้า
มีการรับรู้ที่ดี
ผู้ป่วยที่ผลการฟื้นฟูได้ผลไม่ดี
ผู้ป่วยอยู่ในระยะ coma นานไป
อยู่ในระยะปวกเปียก นานเกิน 2 เดือน
มีอาการเกร็งหรืออ่อนแรงกล้ามเนื้อต้นขา
ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย
ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางสายตา
ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน
ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า
ผู้ป่วยที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่นโรคหัวใจ
การจัดท่านอนของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่ไม่ได้มีการจัดท่านอน มักจะนอนในสภาพเข่า แขน และสะโพกงอ เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นจะไม่สามารถใช้แขน และขาข้างนั้นได้อย่างเต็มที่เนื่องจากข้อติด
การจัดท่านอนหงาย
ศีรษะหนุนหมอนใบเล็กๆ ไม่ให้ศีรษะยกสูงไป
จัดให้ศีรษะหมุนไปด้านที่อัมพาต
จัดตัวให้ตรง อย่าให้เอียงไปด้านที่เป็นอัมพาต
ข้อสะโพก ใช้หมอนบางๆหนุนหรือวางใต้สะโพกข้างที่อัมพาตเพื่อกันไม่ให้เชิงกรานแบะออกไปด้านหลัง
ข้อเข่าอยู่ในท่าเหยียดตรง หรืองอเล็กน้อย
ข้อเท้าใช้ foot board เพื่อป้องกันไม่ให้ปลายเท้าตก
ลักษณะของแขนสามารถจัดวางได้ 3 แบบ
การจัดท่านอนตะแคงข้างดี
นอนตะแคงเต็มตัว
ศีรษะโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย
ลำตัวตรง
แขนข้างอัมพาตจัดให้ไหล่งุ้มไปทางด้านหน้า ใช้หมอนรองแขน มือวางบนหมอน
การจัดท่านอนตะแคงทับข้างที่เป็นอัมพาต
จัดศีรษะโน้มไปด้านหน้า
ลำตัวตรง
แขน ไหล่ ข้างที่เป็นอัมพาตห่อมาทางด้านหน้า ช่วงปลายแขนอยู่ในท่าหงายมือ
ขาด้านหลัง ข้างอัมพาตจับเหยียด ข้อสะโพกตรง เข่างอเล็กน้อย
ขาข้างดีอยู่บนงอไปด้านหน้า ใช้หมอนรองรับไว้
การจัดท่านอนคว่ำ
ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องหายใจ และสามารถนอนคว่ำได้ ควรจัดให้นอนคว่ำวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ใช้หมอนรองเข้าเท้าไว้
การป้องกันข้อติด
รูปแสดงการทำ passive range of motion เพื่อป้องกันข้อไหล่ แขนติด
แสดงการบริหารบริเวณนิ้วมือ
การเคลื่อนไหวบนเตียง
เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ควรสอนให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองในการเปลี่ยนท่านอน เช่นจากท่านอนไปเป็นท่าตะแคง
การตะแคงไปข้างที่ดี
สอนให้จับแขนข้างอัมพาตวางไว้บนทรวงอกหรือหน้าท้อง
สอดปลายขาที่ดีใต้เข่าที่เป็นอัมพาต เลื่อนเท้าที่ดีลงไปถึงข้อเท้าที่เป็นอัมพาต
ใช้ขาที่ดีค่อยๆยกขาข้างอัมพาตขึ้น แล้วค่อยๆตะแคงไปด้านที่ดี
ยกศีรษะ ไหล่ และตะแคงตัวไปด้านดี โดยใช้แขนข้างที่ดียันลง
บนที่นอน มือจับขอบที่นอนไว้
การตะแคงตัวไปข้างที่เป็นอัมพาต
ใช้มือข้างดี อ้อมมาจับราวขอบเตียงหรือขอบที่นอนด้านตรงข้าม
ใช้แขนที่ดีดึงตัวให้ตะแคงไปด้านที่เป็นอัมพาต
อ้างอิง
https://www.siamhealth.net/public_html/Disease/neuro/rehabilitation/rehabilitation.htm